พื้นลามิเนต

พื้นไม้ลามิเนตคืออะไร

พื้นลามิเนตคือพื้นไม้ที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการผลิตขั้นสูง มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน

  1. ชั้นเคลือบผิวหน้าพื้นไม้ลามิเนต (Overlaying film) เป็นชั้นป้องกันรอยขีดข่วนผิวหน้า ค่ามาตรฐานยุโรปเรียก AC-Abrasing Content คือค่าความคงทนต่อการขัดสีของผิวหน้า มีค่าตั้งแต่ AC1-AC5 (ผ่านการทดสอบความคงทนการขัดสี 1,000-5,000 รอบ) มาตรฐานพื้นไม้ลามิเนตที่ใช้ทั่วไปคือ AC3 เหมาะกับการใช้งานบ้านพักอาศัยและสำนักงาน

  2. ชั้นแสดงลายไม้ (Decorative Paper) เป็นชั้นที่แสดงความสวยงามของพื้นไม้ลามิเนต ลายไม้แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันขึ้นกับการออกแบบ

  3. ตัวแผ่นพื้นไม้ลามิเนต ทำจากผงไม้มาขึ้นรูปแบบอัดแน่นสูง (High Density Fiberboard) เป็นชั้นรองรับน้ำหนักและแรงกระแทก

  4. ชั้นรองใต้แผ่น (Balancing Film) ช่วยป้องกันความชื้น และเพิ่มแรงดึงผิวด้านล่างให้เท่ากับด้านบน ให้แผ่นไม้ลามิเนตคงรูปไม่โก่งตัว

ข้อดีของพื้นไม้ลามิเนต

  • มีลายพื้นไม้สวยงาม ลายไม้หลากหลายเลือกออกแบบลายไม้ของพื้นไม้ให้เข้ากับการตกแต่งได้ทุกสไตล์

  • พื้นไม้ลามิเนตมีราคาเหมาะสม (ราคาถูกที่สุดในกลุ่มพื้นไม้) ราคาพื้นไม้ลามิเนตรวมติดตั้งปัจจุบันอยู่ที่ 400-650 บาท ต่อตารางเมตร

  • โครงสร้างพื้นไม้ (HDF) รองรับแรงกระแทกได้ดี 

  • ติดตั้งง่าย ปูทับบนพื้นชั้นล่างที่เป็นพื้นปูนใหม่ หรือปูทับบนพื้นกระเบื้องเดิมและพื้นไม้ปาร์เก้เดิมได้ โดยไม่ต้องทำการรื้อพื้นเดิมออก การปูพื้นไม้ลามิเนตปูด้วยการรองโฟมปรับระดับโดยไม่ต้องติดกาว

ข้อเสียและข้อควรระว้งของพื้นไม้ลามิเนต

  • พื้นไม้ลามิเนตทำความสะอาดด้วยไม้ถูพื้นได้ แต่ไม่ทนต่อความชื้นและน้ำที่มาสัมผัสเป็นระยะเวลานาน เช่นในกรณีฝนตกเข้าทางหน้าต่างหรือน้ำจากห้องน้ำไหลท่วมมาโดนพื้น ทำให้พื้นไม้ลามิเนตขึ้นสันตรงรอยต่อแผ่น (สามารถแก้ไขโดยการรื้อเปลี่ยนแผ่นพื้นลามิเนตที่ขึ้นสันเฉพาะแผ่นได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนทั้งผืน)

image

4 ค่ามาตรฐานพื้นไม้ลามิเนต ควรรู้ก่อนตัดสินใจ

  • ความหนาของพื้นไม้ลามิเนต มี 2 ความหนามาตรฐาน 8 mm และ 12 mm พื้นไม้ลามิเนตความหนา 8 mm เป็นรุ่นที่นิยมสำหรับงานพื้นชั้นสองบ้านจัดสรรและคอนโดเพราะมีราคาถูก รุ่นความหนา 12 mm มีราคาสูงกว่ารุ่น 8 mm (70-120บาทต่อตร.ม.) โดยรุ่น 12 mm เหมาะกับงานบ้านพักอาศัย เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกที่แน่นมากกว่ารุ่น 8 mm

  • รอยต่อแผ่นพื้นไม้ลามิเนต มี 2 รูปแบบ 1. รอยต่อแผ่นแบบเรียบ พื้นไม้ลามิเนตโดยส่วนใหญ่เป็นแบบรอยต่อเรียบ ผิวหน้าพื้นไม้หลังการติดตั้งมีความเรียบชิดติดกันทั้งผืน 2.รอยต่อแผ่นแบบร่องวี (V-Groove) รอยต่อแผ่นพื้นไม้ลามิเนตแบบร่องวีเป็นการผลิตให้รอยต่อของแผ่นมีร่องเล็กระหว่างรอยต่อแผ่น (Micro-V) เวลามองและสัมผัสพื้นไมัลามิเนตร่องวี ให้ความรู้สึกรอยต่อแผ่นเหมือนปูแผ่นไม้จริง ร่องวีของรอยต่อแผ่นผลิตขึ้นรูปให้มีเฉพาะพื้นผิวด้านบน รอยต่อตัวแผ่นส่วนโครงสร้างยึดติดกันแน่นมีความแข็งแรง

  • ผิวหน้าสัมผัสพื้นไม้ลามิเนต มี 2 แบบ 1.ผิวหน้าเรียบ (Woodgrain) 2. ผิวหน้าเรียบมีสัมผัส (Embross) พื้นไม้ลามิเนตส่วนใหญ่เป็นแบบผิวหน้าเรียบ (Woodgrain) ส่วนรุ่นผิวหน้ามีสัมผัส (Embross) จะเป็นรุ่นสั่งผลิตเฉพาะโครงการ พื้นไม้ลามิเนตรุ่นร่องวี (V-Groove) นิยมผลิตผิวหน้าแบบมีสัมผัส (Emboss) เพื่อให้แผ่นไม้ลามิเนตมีลักษณะเหมือนไม้จริงทั้งผิวหน้าและรอยต่อ

  • ค่าการกันรอยขีดข่วน AC-Abrasing Content คือค่าความคงทนผิวหน้าด้วยการทดสอบขัดสีผิวหน้า (นับค่าการทดสอบเป็นจำนวนรอบ) AC1-5= ผ่านการทดสอบ 1,000-5,000 รอบ

    • รุ่นผลิตภายในประเทศไทย มีค่ามาตรฐานที่ AC1-AC3

    • รุ่นผลิตในประเทศยุโรป มีค่ามาตรฐานที่ AC3-AC5

การดูแลรักษาพื้นไม้ลามิเนต UNIX by SCG

  • การดูแลรักษาพื้นไม้ลามิเนตใช้น้ำทำความสะอาดด้วยน้ำ ระวังอย่าให้ชุ่มน้ำเกินไป พื้นไม้ลามิเนตตัวแผ่นทำจากไม้ไม่ทนน้ำ เมื่อโดนน้ำให้รีบเช็ดและทำความสะอาดทันที

  • ไม่ควรใช้น้ำยาขัดเงาหรือน้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่มีผลกัดกร่อน ทำความสะอาดพื้นไม้ลามิเนต

  • ระวังไม่ให้สีน้ำมันและทินเนอร์สัมผัสโดนพื้นไม้ลามิเนตซึ่งจะทำให้เกิดคราบ กรณีเกิดคราบบนพื้นไม้ลามิเนตไม่สามารถทำความสะอาดได้ ต้องทำการรื้อและเปลี่ยนแผ่น

  • แนะนำใช้ฐานรองแผ่นผ้าหรือแผ่นสักหลาดที่ขาเก้าอี้ โต๊ะและตู้ที่มีน้ำหนัก เพื่อป้องกันการขูดขีดและน้ำหนักกดทับ

  • กรณีพื้นไม้ลามิเนตอยู่ในห้องที่ไม่มีการใช้งาน ควรมีการเปิดห้องให้อากาศถ่ายเททุก 2-3 อาทิตย์ เพื่อป้องกันความร้อนสะสมภายในห้องทำให้ไม้ขยายตัวเกินกว่าสภาวะปกติ

ข้อดีของพื้นไม้ลามิเนต

  • พื้นไม้ลามิเนตทำจากผงไม้ขึ้นรูป (HDF) มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทก ปิดผิวหน้าสวยงามด้วยลายไม้ (Decorative Paper) เคลือบด้วยชั้นป้องกันรอยขีดข่วนและความชื้นที่ผิวหน้า (Overlaying)

  • พื้นไม้ลามิเนตมีราคาถูกกว่าพื้นไม้จริง เหมาะกับการใช้งานที่มีงบประมาณแบบพอเพียง

  • การติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต เป็นการปูพื้นยึดติดกันด้วยระบบคลิกล็อค ไม่ต้องใช้กาวในการยึดติด ทำให้ติดตั้งได้รวดเร็ว กรณีมีความเสียหายจากตัวแผ่นสามารถรื้อเปลี่ยนเฉพาะแผ่นได้

  • ลายไม้ของพื้นไม้ลามิเนตมีความสวยงาม มีให้เลือกมากกว่า 40 สี สามารถเลือกลายไม้ให้เข้ากับการตกแต่งภายในได้ง่าย

ข้อเสียของพื้นไม้ลามิเนต

  • พื้นไม้ลามิเนตเป็นผงไม้อัดแน่น ไม่สามารถทนต่อความชื้นสัมผัสได้นาน กรณีมีความชื้นและน้ำมาสัมผัส ต้องรีบเช็ดทำความสะอาดทันที ถ้าพื้นไม้ลามิเนตโดนน้ำเป็นระยะเวลา จะทำให้พื้นไม้ลามิเนตบวมน้ำและขึ้นสันตะเข็บบริเวณรอยต่อแผ่นได้

การเตรียมพื้นชั้นล่างก่อนการปูพื้นไม้ลามิเนต

  • ติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตทับพื้นซิเมนต์ขัดหยาบที่เป็นพื้นใหม่ พื้นไม้ลามิเนตสามารถติดตั้งบนพื้นซิเมนต์ขัดหยาบได้โดยไม่ต้องขัดมัน การตรวจสอบเน้นการตรวจระดับและความชื้น ซึ่งจะมีขั้นตอนน้อยกว่าระบบปูกาว

  • ตรวจสอบความชื้นก่อนติดตั้ง ค่าความชื้นของพื้นก่อนติดตั้งต้องมีความชื้นไม่เกิน 13% จากค่าผลทดสอบเครื่องวัดความชื้น

  • ตรวจสอบระดับก่อนติดตั้ง ทำการตรวจสอบโดยเครื่องวัดระดับเลเซอร์หรือไม้สามเหลี่ยมวัดระดับ พื้นก่อนติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตต้องมีระดับความสูงต่ำของระดับไม่เกิน 3 มิลลิเมตร พื้นไม้ลามิเนตยึดติดด้วยระบบคลิกทำให้พื้นยึดกันเป็นแผ่น จะไม่เป็นคลื่นมาก การปูพื้นไม้ลามิเนตเป็นการปูพื้นบนโฟมปรับระดับทับพื้นชั้นล่าง กรณีพื้นไม่ได้ระดับเมื่อเหยียบพื้นจะมีการยุบตัวของพื้นไม้ลามิเนตได้หรือเรียกว่าพื้นยวบ

  • ติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตทับพื้นซิเมนต์ขัดมันหรือขัดหยาบที่เป็นพื้นเดิม ทำการตรวจสอบเหมือนข้อ1 เพิ่มเติมคือกรณีกรณีพื้นซิเมนต์เดิมไม่ได้ระดับ ต้องการทำการปรับระดับใหม่โดยการเทปรับระดับ โดยมีข้อควรระวังคือการประสานระหว่างพื้นเทปรับระดับใหม่และพื้นเดิมต้องมีความแข็งแรงและประสานกันได้สนิท 100% อีกวิธีการการปรับระดับด้วยการรองพื้นด้วยสมาร์ทบอร์ดหรือวีว่าบอร์ดก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต

  • ติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตกับพื้น Self Leveling กรณีพื้นซิเมนต์เดิมไม่ได้ระดับและต้องการให้พื้นไม้ลามิเนตมีความเรียบสม่ำเสมอ 100% สามารถเลือกใช้วิธีการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตทับพื้น Self Leveling ได้

    • พื้น Self Leveling เป็นการใช้ซิเมนต์ปรับระดับแบบไหลตัวง่าย เทปรับระดับบนพื้นซิเมนต์ขัดหยาบ ซึ่งเนื้อปูนซิเมนต์จะไหลปรับระดับด้วยตัวเองด้วยคุณสมบัติพิเศษ ทำให้พื้นได้ระดับ 100% ปรับระดับได้ตวามความหนาที่ต้องการ

    • ความหนาปรับระดับของพื้น Self Leveling ที่ปรับได้ขั้นต่ำ 3-5 มิลลิเมตร กรณีต่ำกว่าพื้นมีโอกาสแตกร้าวเนื่องจากปรับระดับบางเกินไป ข้อจำกัดคือพื้น Self Leveling มีค่าใช้จ่ายสูง ประมาณ 350 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป ขึ้นกับความหนา

  • ติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตทับพื้นกระเบื้องที่เป็นพื้นเดิม พื้นกระเบื้องส่วนใหญ่จะได้ระดับเพราะมีการทำระดับก่อนการติดตั้งพื้นกระเบื้อง และพื้นกระเบื้องมีค่าการป้องกันความชื้นสูง การตรวจสอบความชื้นและระดับพื้นกระเบื้องก่อนการติดตั้งจะทำได้ง่ายกว่าพื้นซิเมนต์ขัดมัน ควรเก็บรอยต่อแผ่นกระเบื้องเดิมด้วยปูนกาวหรือฟุตตี้ที่มีความแข็งแรงสูง เพื่อให้พื้นไม้ลามิเนตหลังติดตั้งไม่มีการยุบตัวเมื่อสัมผัส

การตรวจสอบพื้นก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต

  • ระดับพื้นซิเมนต์สำหรับการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต ต้องมีความต่างของระดับสูงต่ำไม่เกิน 3 มิลลิเมตรต่อระยะความยาว 1 เมตร ตรวจสอบระดับของพื้นไม้ลามิเนตด้วยไม้สามเหลี่ยมหรือตัววัดระดับเลเซอร์ กรณีมีความต่างมากกว่าค่ามาตรฐาน ต้องทำการปรับระดับใหม่ พื้นที่มีระดับต่ำให้ทำการการเติมพื้นด้วยปูนกาวหรือปูนยิปซั่ม พื้นที่มีระดับสูงให้ทำการเจียพื้นออก หลังการปรับระดับต้องมีระยะเวลาให้พื้นSetตัวและคลายความชื้น

  • พื้นซิเมนต์ก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตต้องแห้งสนิท ทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือวัดระดับความชื้น โดยค่าความชื้นที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 15% กรณีที่ค่าเกินกว่ามาตรฐานต้องทิ้งระยะเวลาให้พื้นSetตัว

  • พื้นซิเมนต์ก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตต้องมีความแข็งแรง ทำการตรวจสอบความแข็งแรงของผิวหน้า ผิวหน้าพื้นซิเมนต์ต้องไม่หลุดร่อนหรือเป็นฝุ่น ส่งผลให้พื้นไม้ลามิเนตเคลื่อนตัวหลังการใช้งาน

  • กรณีติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตปูทับบนพื้นไม้ปาร์เก้หรือพื้นกระเบื้องเดิม ต้องทำการตรวจสอบว่าแผ่นปาร์เก้และแผ่นกระเบื้องยึดติดแน่นแข็งแรงไม่หลุดร่อน กรณีที่พื้นเดิมชำรุดมีรอยแตกและหลุดร่อน ต้องทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย คงสภาพแข็งแรงก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต

  • กรณีการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตโดยมีงานเฟอร์นิเจอร์ Build-in ต้องเตรียมแผ่นไม้อัดขนาดความหนาไม่น้อยกว่าพื้นไม้ลามิเนตวางรองบริเวณส่วนที่เฟอร์นิเจอร์ Build-in ติดตั้ง เพื่อให้พื้นไม้ลามิเนตมีระยะในการขยายตัวสามารถขยายตัวเข้าไปในฐานของเฟอร์นิเจอร์ Build-in ได้ การวางแผ่นไม้อัดให้เว้นร่นระยะจากระยะขอบของเฟอร์นิเจอร์ Build-in เป็นระยะ 3 เซนติเมตรโดยรอบ

  • แนะนำให้วางแผนงานติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตเป็นงานลำดับสุดท้าย เพื่อป้องกันผลกระทบจากการทำงานส่วนอื่นที่มีโอกาสทำให้พื้นไม้ลามิเนตเสียหาย งานติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตเป็นงานติดตั้งแบบแห้ง ติดตั้งได้รวดเร็วสามารถวางเป็นการสุดท้ายก่อนใช้งานพื้นได้

พื้นไม้ลามิเนตยอดนิยม (ราคาโปรโมชั่น รวมติดตั้ง)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้